it's me

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โลกหลากสี ที่ 'ตะรุเตา'



อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่กว่า 50 เกาะแบ่งเป็นหมู่เกาะใหญ่ๆได้ 2หมู่เกาะคือหมู่เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะอาดัง-ราวีเป็นพื้นที่อุทยานที่มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์และความสวยงามของธรรมชาติ ทั้งจากบนเกาะที่เป็นป่าดิบเขียวขจี อ่าวที่มีหาดทรายขาวสวยเมื่อมองจากจุดชมวิวจะเห็นภูมิทัศน์ที่งดงามยิ่งภายใต้ผืนน้ำมีแนวปะการังทั้งน้ำตื้นและน้ำลึกเต็มไปด้วยฝูงปลานานาชนิดสีสันสวยงามเป็นสังคมใต้ทะเลที่สร้างความตื่นตาให้กับผู้มาเยือนเป็นอย่างมาก เมื่อปี พ.ศ.2525 องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน ( ASEAN Heritage Parks and Reserves )อุทยานแห่งชาติตะรุเตามีที่ท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะน่าสนใจมากมายกระจายอยู่ทั่วพื้นที่เช่นเกาะตะรุเตาซึ่งเป็นเกาะประวัติศาสตร์และยังมีอ่าวที่มีหาดทรายสวยงามเรียงรายเกือบรอบเกาะ เกาะไข่ที่มีซุ้มประตูหินธรรมชาติทอดโค้งจากผืนทรายจรดน้ำ เกาะหลีเป๊ะที่มีสมญาว่า มัลดีฟเมืองไทย เกาะราวีที่มีหาดทรายขาว น้ำใส ปะการังสวย เกาะอาดัง มีหาดทรายขาวละเอียดมีแนวปะการังอยู่รอบเกาะ เหมาะสำหรับดำน้ำตื้นและมีจุดชมทิวทัศน์ผาชะโดที่เห็นความงามของท้องทะเลและเกาะใกล้เคียงตัวอย่างที่ยกมานี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นตะรุเตายังมีที่สวยงามอีกมากให้ได้ชื่นชมอย่างเต็มอิ่มคุ้มค่ากับการเดินทาง

โลกหลากสี ที่ ‘สิมิลัน’ 1

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา


ใครๆ ก็รู้ว่าน้ำทะเลสิมิลันนั้นใสแจ๋ว เม็ดทรายก็ ขาวเนียนละเอียดยิบราวกับแป้ง จนหลายคน หลงรักทะเลงามฝั่งอันดามันนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น โดยเฉพาะถ้าได้ดำดิ่งลงไปพร้อมอุปกรณ์สกูบาเพื่อ ไปเยือนอาณาจักรหลากสีสัน ซึ่งกระจายอยู่หลาย จุดใต้ผืนน้ำ ก็จะได้เห็นดงปะการังอ่อน กัลปังหา และฝูงปลาสารพัดสารพัน ทั้งตัวบิ๊กเบิ้มอย่าง ฉลามวาฬ ทั้งตัวย่อมลงมา แต่ลีลาการโบยบินใน ท้องทะเลนั้นแสนเตะตา อย่างกระเบนราหู รวม ไปถึงสัตว์น้ำตัวเล็กตัวน้อย ทว่าเต็มไปด้วยสีสัน สดใส ไม่ว่าจะเป็นปลาการ์ตูน ทากทะเล ปลาบู่- ทะเล ปูแต่งตัว ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่งแต้มสีสันให้ ใต้ทะเลสิมิลันงดงามตระการตา สมกับที่ได้รับการ ยกย่องว่าเป็นสุดยอดแหล่งดำน้ำลึกของเมืองไทย

ช่วงเวลาที่ดีที่สุด: เดือนพฤศจิกายน-เมษายน เป็น ฤดูกาลท่องเที่ยวทะเลฝั่งอันดามัน ช่วงนี้ฟ้าใส ไร้เมฆฝน ทัศนวิสัยกว้างไกล ดำน้ำได้สนุกที่สุด

อ้างอิง : http://blog.unseentourthailand.com/?p=1437

โลกหลากสี ที่ ‘สิมิลัน’ 2

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
ข้อมูลทั่วไป
หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะกลางทะเลอันดามันที่เป็นเลิศในความงามของปะการังแห่งหนึ่งของโลก “สิมิลัน” เป็นภาษายาวีหรือมลายู แปลว่า “เก้า” ชาวประมงบางคนจึงเรียกว่า หมู่เกาะเก้า ประกอบด้วย เกาะใหญ่น้อย 9 เกาะด้วยกัน เรียงตัวตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันประกอบด้วย เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะปายัง และเกาะหูยง หมู่เกาะสิมิลัน เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2525 ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และในปี 2541 ได้ผนวกรวมเกาะตาชัย ทำให้มีพื้นที่ทั้งหมด 140 ตารางกิโลเมตร

ในปี พ.ศ. 2524 คณะสำรวจหมู่เกาะสิมิลันซึ่งประกอบด้วย Mr. Jeferey A. Sayer ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าของ FAO (ขณะนั้นช่วยงานด้านอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า กรมป่าไม้) ดร.เต็ม สมิตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญกรมป่าไม้ นายสุวัช สิงหพันธุ์ เจ้าหน้าที่กองอุทยานแห่งชาติ และคณะสำรวจของนายประพันธ์ ผลเสวก แห่งนิตยสารเพื่อนเดินทาง ได้เสนอความคิดเห็นต่อกองอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2524 ว่า บริเวณหมู่เกาะสิมิลันมีสภาพธรรมชาติและทิวทัศน์ทางทะเลสวยงามยิ่ง สภาพแวดล้อมบนเกาะต่างๆ สมบูรณ์ มีพรรณพืชและสัตว์ที่น่าสนใจหลายชนิด สภาพภูมิประเทศทั่วไปประกอบด้วยหน้าผา โขดหินรูปร่างแปลกตา มีหาดทรายขาวบริสุทธิ์ และใต้ท้องทะเลอุดมสมบูรณ์ด้วยปะการังหลากสีหลายชนิดและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด เหมาะสมที่จะสงวนรักษาไว้เป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2524 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2524 เห็นสมควรให้จัดบริเวณหมู่เกาะเก้าหรือหมู่เกาะสิมิลันเป็นอุทยานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยให้ชื่อว่า “หมู่เกาะสิมิลัน” ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2525 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินหมู่เกาะสิมิลัน ในท้องที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เนื้อที่ประมาณ 80,000 หรือ 128 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติภายใต้ชื่อว่า “ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 123 ลงวันที่ 1 กันยายน 2525 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 43 ของประเทศไทย

ต่อมาได้ผนวกพื้นที่เกาะตาชัย เนื้อที่ 12 ตารางกิโลเมตรเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 65ก ลงวันที่ 25 กันยายน 2541 รวมพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งสิ้น 87,500 ไร่ หรือ 140 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ประกอบด้วยพื้นดินที่เป็นเกาะต่างๆ เขาหินแกรนิตสูงชัน หาดทราย โขดหิน ลักษณะรูปร่างต่างๆ ชายฝั่งของเกาะต่างๆ มีลักษณะเว้าแหว่งไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากตั้งอยู่ในส่วนทะเลนอก ได้รับอิทธิพลจากการกัดเซาะของคลื่นทะเลโดยตรง เรียงตัวตามแนวทิศเหนือใต้ พื้นน้ำเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียตะวันออก บริเวณไหล่ทวีปติดชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและประเทศพม่า คู่ขนานกับแนวเกาะนิโคบาร์ ที่เป็นไหล่ทวีปของประเทศอินเดีย ตามชายหาดหรือสันทรายจะไม่มีดินเลนให้เห็นจึงเป็นชายหาดที่ขาวสะอาด สวยงาม อนุภาค ทรายมีขนาดเล็กละเอียด ส่วนที่เป็นยอดเขาจะเป็นเขาโดดสูงชัน ยอดเขาสูงสุดมีความสูง 244 เมตร จากระดับน้ำทะเล บางเกาะมีลักษณะแบนราบล้อมรอบด้วยเนินทรายและแนวปะการัง